ทำไมถึงต้องมีป่าชายเลนแต่ละแบบในพื้นที่

ประโยชน์และความสำคัญ
ป่าชายเลนมีประโยชน์ทั้งทางด้านนิเวศวิทยา การดำรงชีวิตของมนุษย์ และยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของชายฝั่งทะเล สามารถวิเคราะห์ประโยชน์ในด้านต่างๆ ของป่าชายเลน ได้ดังนี้
          1. ป่าชายเลนเป็นแหล่งอาหาร แหล่งอนุบาล และที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ รวมถึงมนุษย์ จากการศึกษาของณิฏฐารัตน์ และคณะ (2551) พบสัตว์ทะเลหน้าดินที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนถึง 7 ไฟลัม ด้วยกัน ได้แก่ ดอกไม้ทะเล หนอนตัวแบน ไส้เดือนตัวกลมทะเล ไส้เดือนทะเล หนอนถั่ว เอคไคยูรา (Echiura) แมงดาทะเล โคพีพอด (Copepod) แอมฟิพอด (Amphipod) ทาไนดาเซียน (Tanaidacean) กุ้งชนิดต่างๆ รวมถึงปูและหอย ป่าชายเลนนอกจากจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ที่อยู่อาศัย หลบภัย และหาอาหารของสัตว์น้ำแล้ว ยังรวมไปถึงนกประจำ-ถิ่นและนกอพยพ โดยนกประจำถิ่นอาศัยกินและสร้างรังในป่าชายเลน เช่น นกยางเปีย นกกาน้ำเล็ก เหยี่ยวแดง และนกอพยพที่ใช้เส้นทางบินเดิมประจำทุกปี คือ กลุ่มนกชายเลนและนกทะเล ที่อพยพมาตามไหล่ทวีปมักพักนอนและหาอาหารเพื่อสะสมพลังงานในป่าชายเลน เนื่องจากมีความเหมาะสมทั้งเรื่องอาหารที่มีสัตว์น้ำมากมาย เป็นที่หลบภัย เช่น ลมฝน สัตว์ผู้ล่า นกในกลุ่มนี้เช่น นกใหญ่ นกชายเลนปากช้อนและนกนางนวลธรรมดา รวมถึงสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ค้างคาว ลิงลม ลิงแสม หนูบ้าน นาก เสือปลา แมวป่า หมูป่า และเก้ง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู ตะกวด และจระเข้ เป็นต้น นอกจากนี้สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิดได้ใช้ป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัย และอนุบาลตัว อ่อนในบางช่วงของวงจรชีวิตของมัน เช่น ปลากะพงขาว ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากระบอก ปลาเก๋า กุ้ง-กุลาดำ กุ้งแชบ๊วย หอยดำ หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยแครง และหอยกะพง ปูแสม ปูม้า แต่สัตว์น้ำบางชนิดอาจใช้ป่าชายเลนเป็นทั้งแหล่งเกิดและอาศัยจนเติบโตสืบพันธุ์ เช่น ปูทะเล

2. พืชในป่าชายเลนสามารถนำมาใช้เป็นผักพื้นบ้านจำนวน หลายชนิด เช่น ใบชะคราม ยอดเป้ง ยอดผักเบี้ยทะเล ต้นจากก็เป็นพืชป่าชายเลนอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำส่วนต่างๆ มาใช้ ประโยชน์ได้ คือ ใบนำมาทำเป็นตับมุงหลังคา ใบอ่อนสามารถนำมามวนบุหรี่ได้ น้ำจากยอดอ่อน นำมาทำน้ำตาลจากรสชาติดี ผลใช้กินเป็นของหวาน พืชในป่าชายเลนหลายชนิดนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ เช่น เหงือกปลาหมอ มะนาวผี ใช้รักษาโรคผิวหนัง ผลของตะบูนขาวใช้รักษาโรคบิดและโรคท้องร่วงได้ รากตาตุ่มทะเลใช้แก้ อักเสบ แก้ไข้ แก้คัน เป็นต้น

 3. เศษซากพืชหรือเศษไม้ใบไม้และส่วนต่างๆ ของไม้ป่าชายเลนที่ร่วงหล่นลงมา จะถูกย่อยสลายกลายอินทรียวัตถุ กระบวนการย่อยสลายของอินทรียวัตถุเหล่านี้จะทำให้เกิดสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำ เช่น กรดอะมิโน ซึ่งสาหร่ายและจุลินทรีย์ต่างๆ จะสามารถใช้เป็นอาหารได้ และจุลินทรีย์เหล่านี้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนต่อไป

4. ป่าชายเลนช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งและใกล้เคียง โดยเฉพาะหญ้าทะเลและปะการัง ป่าชายเลนมีบทบาทในการรักษาสมดุลของธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของน้ำทะเลชายฝั่งซึ่งจะส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมง

 5. รากของต้นไม้ในป่าชายเลน นอกจากจะช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว ยังช่วยบรรเทาความเร็วจากกระแสน้ำลง ทำให้ตะกอนที่แขวนลอยมากับน้ำทับถมเกิดเป็นแผ่นดินงอกใหม่ เมื่อระยะเวลานานก็จะขยายออกไปในทะเลเกิดเป็นหาดเลน อันเหมาะสมแก่การเกิดของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนต่อไป

   6. รากของต้นไม้ในป่าชายเลนที่งอกออกมาเหนือพื้นดิน จะทำหน้าที่คล้ายตะแกรงธรรมชาติคอยดัก-กรองสิ่งปฏิกูลต่างๆ และสารมลพิษต่างๆ จากบนบกไม่ให้ลงสู่ทะเล โลหะหนักหลายชนิด เมื่อถูกพัดพามาตามกระแสน้ำ ก็จะตกตะกอนลงที่บริเวณดินเลนในป่าชายเลน นอกจากนั้นขยะ และคราบน้ำมันต่างๆ ก็จะถูกดักกรองไว้ในป่า-ชายเลนเช่นกัน

  7. ป่าชายเลนทำหน้าที่เหมือนปราการ ช่วยบรรเทาความรุนแรงของคลื่นและลมให้ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับบริเวณที่ไม่มีป่าชายเลน

   8. ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เพราะเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยพรรณไม้นานาชนิดที่มี ใบ ดอก และผลสวยงามแปลกตา อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่มีทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ อาศัยอยู่มากมาย ทำให้ป่าชายเลนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งศึกษาหาความรู้ที่สำคัญยิ่ง

   9. ป่าชายเลนเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน โดยช่วยลดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ เนื่องจากไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูงจึงช่วยลดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มปริมาณออกซิเจน

  10. แหล่งพลังงานที่สำคัญจากป่าชายเลน ได้แก่ “ถ่านไม้” ไม้ป่าชายเลนที่นิยมนำมาเผาถ่าน คือ ไม้โกงกาง เพราะติดไฟทนทาน ไม่มีควัน ไม่ปะทุแตกไฟ ได้ก้อนถ่านสวยงาม ขายได้ราคาดี ปัจจุบัน ถ่านไม้โกงกางที่มีชื่อเสียง คือ ถ่านไม้โกงกางบ้านยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม

 11. ไม้ป่าชายเลน ยังมีประโยชน์ใช้สอยและก่อสร้าง เช่น ไม้เสาเข็ม ไม้ค้ำยัน ไม้ก่อสร้าง แพปลา อุปกรณ์การประมง เฟอร์นิเจอร์ ไม้หลายชนิดนำมาสกัดจะได้แทนนินเพื่อใช้ทำน้ำหมึก ทำสี ทำกาว ย้อมอวน ฟอกหนัง เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *